วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง

ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์การนั้น มีกลยุทธ์ที่สามารถพิจารณาเลือกนำมาใช้ได้หลายประการ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละองค์การและในแต่ละช่วงเวลา โดยกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์การนั้น อาจแบ่งออกได้ตามขอบเขตของการมีส่วนร่วมของบุคลากรระดับต่าง ๆ ในองค์การได้ดังนี้

          1. กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์การโดยการบัญชาการ (commander approach)
          การปรับเปลี่ยนองค์การด้วยวิธีนี้เป็นการที่ผู้บริหารคิดริเริ่ม และใช้อำนาจบัญชาการการปรับเปลี่ยนในส่วนต่าง ๆ ขององค์การ โดยผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่เพียงปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่อาจทำให้มีการต่อต้าน การไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ และการที่ผู้บริหารคิดคนเดียว บัญชาการคนเดียวก็เสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการขาดข้อมูลข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามในสถานการณ์วิกฤติ ที่องค์การมีความสับสนวุ่นวาย หรือในภาวะฉุกเฉิน อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงแบบบัญชาการได้ยาก นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ราบรื่นอย่างมาก และสมาชิกทุกคนในองค์การยอมรับและพร้อมจะปฏิบัติตามผู้บริหาร กลยุทธ์การบัญชาการ จะเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนองค์การที่รวดเร็วที่สุด

          2. กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์การโดยการให้มีส่วนร่วมในวงจำกัด (consultative approach)
          การปรับเปลี่ยนองค์การด้วยวิธีนี้ใช้การเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความสำคัญ จะเป็นโดยตำแหน่งหน้าที่ หรือโดยการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการก็ดี ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดวางแผน และร่วมเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนองค์การ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนองค์การ ซึ่งวิธีนี้อาจจะบรรเทากระแสการต่อต้านได้บ้าง และช่วยให้สามารถระดมความคิด ความร่วมมือได้จากหลายฝ่ายในองค์การ แต่วิธีนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก และการที่มีหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น อาจทำให้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนองค์การเบี่ยงเบนจากเป้าหมายเดิมได้

          3. กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนองค์การโดยการกระจายอำนาจ (decentralized approach)
          วิธีนี้ใช้การเปิดกว้างโดยให้โอกาสทุก ๆ คนในองค์การ สามารถมีส่วนริเริ่มและดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์การทั้งในส่วนที่ตนรับผิดชอบ และในส่วนที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของตน ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงองค์การในลักษณะนี้ได้แก่ การใช้การบริหารคุณภาพทั่งทั้งองค์การ (Total Quality Management) หรือการให้มีการจัดระบบงานกันเองในทีม (Autonomous Work Team) ฯลฯ กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์การในจุดต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นการทำให้องค์การเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเป็นไปเพียงในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม เฉพาะแผนก หรือฝ่ายงาน โดยเฉพาะหากองค์การนั้นไม่มีระบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภายในที่ดีพอ และที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่วางไว้ และเมื่อผู้ปฏิบัติงานได้มีส่วนร่วมประสบสร้างสิ่งใดขึ้นมาแล้ว ความรู้สึกหวงแหน เป็นเจ้าของอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาคิดริเริ่มขึ้นมาได้

          4. กลยุทธ์แบบผสม (mixed strategy)
          เป็นการนำกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์การหลาย ๆ แบบมาใช้ร่วมกัน เช่น ใช้กลยุทธ์การสั่งการโดยที่ผู้บริหารสูงสุดลงมาเป็นวิทยากรในการบรรยาย เรื่องการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์การด้วยตัวเอง ประกอบกับการสร้างทีมงานการรื้อปรับระบบงานของสาขาต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์นั้น และเสริมด้วยการจัดกิจกรรมกลุ่มคุณภาพในระดับปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ส่วนต่าง ๆ ขององค์การ การเปลี่ยนแปลงองค์การโดยอาศัยกลยุทธ์ประเภทต่าง ๆ ประกอบกันนั้น จะต้องมีกลไกกลางเพื่อประสานและการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน

          5. กลยุทธ์การพัฒนาองค์การ (Organizational development)
          การบริหารการเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาองค์การ เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งสร้างขีดความสามารถให้แก่สมาชิกในองค์การในการมองปัญหา แก้ปัญหา และเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาศัยที่ปรึกษาที่ประยุกต์ใช้ความรู้ทางพฤติกรรมศาสตร์ในการสนับสนุนให้ทีมพัฒนาขีดความสามารถในการแก้ปัญหา และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ทีมต่าง ๆ ในองค์การมีความพร้อมที่จะจัดการกับสิ่งท้าทายและเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์การ

http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=1426.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น