วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

“วัฏจักรธุรกิจกับการจัดสรรเงินลงทุน”



            ในการลงทุนนั้นนักลงทุนทุกคนคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะเวลาในการลงทุน (Timing) นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้ดีในช่วงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนที่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) กับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท และสามารถโยกย้ายเงินลงทุนของเขาไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ ถูกประเภทและ ถูกเวลาแล้ว ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่านักลงทุนโดยทั่วไป
            วัฏจักรธุรกิจ เป็นความผันผวนที่เกิดขึ้นกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆ แต่ทั้งนี้ความผันผวนดังกล่าวจะมีลักษณะที่เป็นวัฏจักร กล่าวคือ แต่ละสภาวการณ์จะเกิดขึ้นและหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ตามลำดับ โดยทั่วไปวัฏจักรธุรกิจสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้
            1. ช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การผลิต การลงทุน การบริโภคจะตกต่ำที่สุด และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับสูง ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ผลประกอบการของบริษัทโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะแย่ลง ดังนั้นการลงทุนในหุ้นจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในช่วงนี้ แต่ในทางกลับกัน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อนั้นอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้นการลงทุนในพันธบัตรจึงมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะมีผลทำให้ราคาตลาดของพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น
            2. ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) ระดับการผลิต การจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในสถานการณ์เช่นนี้ผลประกอบการของบริษัทโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะโยกย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในหุ้น
            3. ช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองเต็มที่ (Peak) ระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการผลิตและการบริโภค แต่ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งราคาพันธบัตรและการประกอบธุรกิจของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลงทุนสำหรับช่วงเวลานี้จึงได้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งระดับราคามักจะแปรผันตามภาวะเงินเฟ้อ
            4. ช่วงเศรษฐกิจหดตัว (Contraction) กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการผลิต การจ้างงาน การลงทุน และการบริโภคจะลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูง สภาวการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นในช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ และหันไปฝากเงินระยะสั้นหรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินแทน
                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น