วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

การบริหาร การจัดการ บริหารธุรกิจ ขนาดย่อม SMEs


จากการที่ธุรกิจขนาดย่อม เป็นธุรกิจขนาดเล็กมีการลงทุนในการดำเนินงานไม่สูง ทางการดำเนินธุรกิจส่วนมากแล้วอยู่ในรูปของการดำเนินการภายในครอบครัว โดยมีหัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเอง และมีหน้าที่ในการตัดสินใจในการบริหารคน เงิน เครื่องจักร และวัสดุ โดยใช้หลักการบริหาร ฉะนั้น ผู้ดำเนินการจัดการหรือบริหารธุรกิจขนาดย่อมควรที่จะต้องศึกษาหลักการบริหารและจัดการเบื้องต้น เพื่อทำการบริหารธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ

ความหมายของการจัดการธุรกิจขนาดย่อม
          คำว่า "การจัดการ" โดยทั่วไปหมายถึง ลักษณะของการปฏิบัติงาน แต่คำว่า "การบริหาร" โดยทั่วไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายให้พนักงานปฏิบัติตามรวมถึงการบริหารราชการและการบริหารธุรกิจ อย่างไรก็ตามคำทั้งสองได้ถูกนำมาใช้แทนกันอยู่เสมอ โดยที่การบริหารจะเน้นในเรื่องการบริหารหรือการจัดการที่เกี่ยวกับนโยบายชั้นสูง หรือส่วนราชการ การจัดการ จะเน้นในเรื่องการจัดหรือดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ หรือใช้กับกิจกรรมที่ประกอบธุรกิจ

          คำนิยาม "การจัดการ" ในเชิงธุรกิจเพื่อที่จะนำไปสู่ความหมายของการจัดการธุรกิจขนาดย่อมต่อไป โดยแสดงให้เห็นถึงกระบวนการหรือหน้าที่ในการจัดการดังต่อไปนี้

          การจัดการ หมายถึง การจัดทรัพยากรการบริหารมาใช้ในการดำเนินการ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันประกอบด้วยกระบวนการวางแผน การควบคุม การอำนวยการและประสานการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น เพื่อให้ธุรกิจบรรลุผลสำเร็จตามแผนงานและโครงการที่วางไว้

          การจัดการธุรกิจขนาดย่อม หมายถึง กระบวนการวางแผนการจัดองค์การ การบริหารงานด้านต่าง ๆ ของธุรกิจขนาดย่อมที่ดำเนินการ อันประกอบไปด้วยขั้นตอนแรกในการนำวัตถุดิบเข้ามา ผ่านขบวนการผลิตหรือขั้นตอนการบริการต่าง ๆ ออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ถูกใจและประทับใจลูกค้า

องค์ประกอบของการจัดการธุรกิจขนาดย่อม
          จากความหมายของการจัดการธุรกิจขนาดย่อมที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การจัดการธุรกิจขนาดย่อมมีองค์ประกอบที่สำคัญดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือบริการจะต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการดำเนินกิจการไว้เสมอ อาจจะเป็นกำไร ความประทับใจของลูกค้า เป็นต้น
          2. ทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่คน เครื่องจักร เงินทุน และวัตถุดิบ
          3. กระบวนการจัดการธุรกิจขนาดย่อม ประกอบด้วย การวางแผน การจัดองค์การ การบริหารงานบุคคล การอำนวยการ และการควบคุมงาน

ความสำคัญของการจัดองค์การธุรกิจขนาดย่อม
          ผู้บริหารหรือผู้จัดการธุรกิจขนาดย่อม จะเป็นผู้วางแผนในการนำทรัพยากรทั้ง 4 หรือที่ เรียกว่า สี่เอ็ม อันประกอบไปด้วย คน เงิน เครื่องจักร และวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการบริหาร 5 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การบริหารงานบุคคล การอำนวยการและการควบคุมงาน เพื่อให้การดำเนินงานของธุรกิจขนาดย่อมบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
          สินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่ายหรือการบริการต่าง ๆ ก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือต้องเป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการต้องสร้างความประทับใจให้ลูกค้า และส่งงานตรงตามเวลาที่กำหนด ส่วนธุรกิจที่ผลิตสินค้านั้น ผู้ควบคุมการผลิตจะต้องทราบถึงความต้องการของลูกค้าและพยายามพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ตามความต้องการของลูกค้า

ประโยชน์ของการจัดการทางธุรกิจขนาดย่อม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ ในธุรกิจที่กำลังดำเนินการได้
          2. ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการในด้านคุณภาพและรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
          3. ช่วยประสานงานการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ในองค์การธุรกิจให้สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทรัพยากรการจัดการธุรกิจขนาดย่อม
          การจัดการธุรกิจขนาดย่อมโดยทั่วไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ย่อมประกอบไปด้วยทรัพยากรในการจัดการธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งประกอบด้วยทรัพยากร 4M ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. คน เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจขนาดย่อมเป็นอย่างมาก เพราะการดำเนินงานการบริหารหรือจัดการธุรกิจ หรือควบคุมเครื่องจักรกลในการผลิตต่าง ๆ ต้องอาศัยคนเป็นหลักงานและการสร้างสรรค์คุณภาพงาน
          2. เครื่องจักร เป็นทรัพย์สินถาวรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ แก่ลูกค้า
          3. เงินทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ได้ซึ่งทรัพยากรการจัดการอื่น ๆ ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการจัดธุรกิจขนาดย่อมให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เงินทุนที่นำมาใช้ในรูปของการซื้อเครื่องจักร สร้างอาคาร และซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น
          4. วัตถุดิบ คือ วัตถุดิบและวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต วัตถุดิบควรจะอยู่ใกล้กับสถานประกอบการ เพื่อความประหยัดในการขนส่ง และความมั่นใจในการมีวัตถุดิบป้อนให้โรงงานตลอดปี

          จะเห็นว่าการประกอบธุรกิจขนาดย่อมนั้น ผู้จัดการมักจะเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เงินทุนที่ใช้หมุนเวียนก็มีน้อย ประกอบกับเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ฉะนั้นเครื่องจักรกลจึงใช้ไม่มากนัก และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ วัตถุดิบที่ป้อนให้แก่โรงงานนั้นจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และจัดหาได้ง่ายในบริเวณที่ประกอบธุรกิจนั้น ๆ ของธุรกิจขนาดย่อม

          การประกอบธุรกิจขนาดย่อมจะประกอบไปด้วยทรัพยากรการจัดการทั้ง 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว การดำเนินการธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ถ้ามีปัจจัยมาเสริมอีก 4 ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
          1. การตลาด หมายถึง การผลิตสินค้าออกมาได้คุณภาพใกล้เคียงกับบริษัทคู่แข่ง สิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปก็คือ การตลาด ฉะนั้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคว่ามีความต้องการอย่างไร เช่น ปริมาณต่อราคาสินค้าที่ขายการพัฒนาสินค้าของบริษัทคู่แข่ง ตลอดจนส่วนลดของการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
          2. ระบบการปฏิบัติงาน หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารและผู้จัดการควรจัดรูปแบบของงานแต่ละตำแหน่งหน้าที่ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบการทำงานของพนักงาน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตามกฎระเบียบอันจะก่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และลดอุบัติเหตุตลอดจนก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
          3. การบริหาร เป็นวิธีการจัดการทรัพยากรประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คน เครื่องจักร วัตถุดิบ ให้มีการประสานงานและความสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
          4. การจูงใจ เป็นเทคนิคของผู้บริหาร หรือฝ่ายการจัดการในระดับต่าง ๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของงานให้มากขึ้น การจูงใจมีอยู่หลายอย่าง เช่น เอาตำแหน่งหน้าที่เป็นการจูงใจ หรือใช้เงินเป็นสิ่งจูงใจ การจูงใจจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิคและประสบการณ์ของผู้บริหาร ถ้าการจูงใจได้ผลแล้วจะทำให้พนักงานเกิดความมุมานะ และความจงรักภักดีต่อองค์การ

กระบวนการจัดการ ธุรกิจขนาดย่อม
          กระบวนการ จัดการธุรกิจ หมายถึง การดำเนินการธุรกิจขนาดย่อมตามขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การวางแผนการทำธุรกิจ การจัดองค์การ การบริหารพนักงาน การอำนวยการและควบคุม โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ธุรกิจบรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้

กระบวนการจัดการทางธุรกิจขนาดย่อม มี 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
          1. การวางแผน หมายถึง การประเมินสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ และดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การวางแผนที่ดีหลังจากดำเนินการเสร็จแล้วจะต้องมีการวัดผลและประเมินผล เพื่อหาปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มาแก้ไขต่อไป
          2. การจัดองค์การ หมายถึง การประกอบธุรกิจขนาดย่อมนั้น หน่วยงานภายในองค์การหรือบริษัทมีน้อย เพราะเงินทุนในการดำเนินการส่วนใหญ่แล้วจะมีชิ้นส่วนของพนักงานในการผลิตสินค้า ฝ่ายบัญชี และฝ่ายบุคลากร โดยมีเจ้าของผู้ประกอบการเป็นผู้จัดการโดยตรง ซึ่งต่างจากบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ ในบางครั้งพนักงานในโรงงานหรือบริษัทขนาดย่อมจะทำงานหลาย ๆ หน้าที่พร้อม ๆ กัน
          3. การบริหารพนักงาน หมายถึง เนื่องจากธุรกิจขนาดย่อมมีพนักงานภายในน้อย สายงานภายในก็มีไม่มาก หรือบางครั้งเป็นธุรกิจภายในครอบครัว เพราะฉะนั้นการบริหารบางครั้งก็ไม่ตรงตามหลักวิชาการมากนัก การเข้าออกของพนักงานภายในบริษัทหรือสถานประกอบการก็มีสูง ทำให้ต้องมีการรับพนักงานบ่อยครั้ง
          4. การอำนวยการ หมายถึง ส่วนมากแล้วเจ้าของผู้ประกอบการหรือผู้จัดการจะประสานกับพนักงานเอง สั่งการเอง ไม่ได้แยกออกเป็นแผนกหรือสายงาน ถ้าผู้บริหารขาดความเป็นผู้นำ และไม่มีความรู้ทางการบริหารและการจัดการจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหาร
          5. การควบคุมงาน หมายถึง จากการที่ธุรกิจขนาดย่อม เป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจภายในครอบครัว การควบคุมงาน การดำเนินการไปอย่างหยาบ ๆ การควบคุมส่วนมากจะเป็นการควบคุมโดยใช้สายตาและเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่ทำได้ในแต่ละวัน โดยเปรียบเทียบกับพนักงานคนอื่นที่ได้รับมอบงานเหมือน ๆ กัน ไม่ต้องใช้เทคนิคและวิธีการในการตรวจสอบมากนัก

http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=1391.0


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น